ยินดีต้อนรับ..

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลส่ง นศ.ป.โท

ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้อง
                                                       ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 10 มีนาคม พ.. 2552
เรียน      เพื่อนๆ พนักงาน บริษัท สยาม มิชลิน จำกัด
                เมื่อวัน อังคารที่10 มีนาคม พ.. 2552   ตัวแทนพนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทฯ ทั้งหมด 6 ข้อ โดยยื่นให้กับบริษัทฯ  วัตถุประสงค์ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือให้บริษัทฯ จัดสวัสดิการเพิ่มขึ้นให้กับพนักงานทุกคน และการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของทุกคนโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงคือ (1)บริษัทฯมีผลประกอบการดีขึ้น  (2) สภาพเศรษฐกิจ (3) สวัสดิการที่มีอยู่ใช้มานานและไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   (4) สร้างขวัญกำลังใจกับพนักงานในการทำงาน  (5) เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับพนักงาน  (6) เป็นการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
                ซึ่งการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ เราใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดคือ เข้าชื่อกันยื่นเป็นข้อเรียกร้องและแต่งตั้งตัวแทนเจรจา    7 คน  และได้ส่งสำเนาให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ชลบุรี ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้พนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องจะได้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด คือ เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมาย เมื่อข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ยหรือชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมาย ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง  เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง   (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย   (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้  ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้น ต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง      (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
*  ห้ามมิให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง สนับสนุนหรือก่อเหตุการนัดหยุดงาน
ขั้นตอนหลังจากยื่นข้อเรียกร้องโดยสังเขปเมื่อบริษัทฯรับข้อเรียกร้องแล้วจะต้องทำเป็นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเจรจาฝ่ายบริษัทฯ พร้อมกับนัดวันเจรจาข้อเรียกร้องภายใน 3 วัน ถ้าทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันได้ บริษัทฯต้องทำข้อตกลงไปจดทะเบียนกับแรงงานจังหวัดภายใน 15 วันและติดประกาศให้พนักงานทราบ แต่ถ้าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 24 ชม. นับตั้งแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ให้เข้ามาไกล่เกลี่ยเป็นเวลา    5 วัน แต่ถ้าตกลงกันได้บริษัทฯก็นำข้อตกลงไปจดทะเบียน (ตามขั้นตอนที่เสนอเบื้องต้น) แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ทั้งสองฝ่ายอาจตั้งผู้ชี้ขาดหรือนายจ้างใช้สิทธิปิดงานหรือลูกจ้างใช้สิทธินัดหยุดงาน(การหยุดงานไม่ได้รับค่าจ้าง) ซึ่งขั้นตอนการหยุดงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าบริษัทฯรับข้อเรียกร้องแล้วไม่นัดเจรจาภายใน 3 วัน ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 24 ชม. หลังจากครบ 3 วัน และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยภายใน 5 วัน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่เสนอเบื้องต้นจนถึงที่สุด
ดังนั้น จึงขอให้เพื่อนๆ ได้สนับสนุนในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ และขอให้ทุกคนคอยติดตามความคืบหน้าต่อไป เพราะข้อเรียกร้องที่ยื่นไปนั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคนและความจริงใจของบริษัทฯ ที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันด้วยเหตุผลและผล โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเอื้ออาทรต่อกันแบ่งปันซึ่งกันและกัน เพราะถ้าสังคมอยู่อย่างมีความเข้าใจกันไม่เอารัดเอาเปรียบกันและมีความสามัคคีกัน สังคมนั้นจะอยู่กันอย่างมีความสุข  ดั่งคำพูดที่ว่า                                                                                      
" ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสุข "
ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น

ข้อเรียกร้องของพนักงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด
(เฉพาะส่วนที่อยู่ในนิคมฯแหลมฉบัง)
ที่ยื่นต่อบริษัท สยามมิชลิน จำกัด

1.            ขอให้บริษัทฯยุติการหักเงินค่าจ้าง 13.04% ของพนักงานทั้งหมด

2.            ไม่ให้บริษัทฯโยกย้าย  หรือ  กลั่นแกล้ง พนักงานที่ไม่ยินยอมและยินยอม  ในการหักเงินค่าจ้างตามที่บริษัทฯเสนอ

3.            ให้บริษัทฯยกเลิกสัญญาของผู้ที่ลงลายมือชื่อให้หักเงินค่าจ้าง  13.04%  ที่ลงลายมือชื่อไปแล้วทั้งหมด

4.            ในกรณีที่บริษัทฯประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจไม่ให้บริษัทฯเลิกจ้างพนักงานแต่ให้หาวิธีการลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นโดยมีตัวแทนของบริษัทฯและ ตัวแทนพนักงาน (ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้าง) มาร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

5.            ไม่ให้บริษัทฯกลั่นแกล้งหรือโยกย้ายและเลิกจ้างพนักงานที่ลงลายมือชื่อเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

6.            ให้บริษัทฯจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้กับพนักงานทุกคนไม่ต่ำกว่า 2.75 เท่าของฐานเงินเดือนแต่ละคน

สภาพการจ้างอื่นใดที่ดีอยู่แล้วให้คงไว้ นอกจากขัดหรือแย้งกับข้อตกลงฉบับนี้ให้ใช้                     
            สภาพการจ้างนี้แทน








แถลงการณ์
ฉบับที่ 2
กรณีหักค่าจ้าง 13.04 % และไม่จ่ายโบนัส
  สวัสดีพี่น้อง พนักงาน บ.สยามมิชลิน จำกัด
 ตามที่พวกเราพนักงานบริษัทสยามมิชลิน ฯ จำกัด ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทฯ เมื่อวันที่ 10 มี.ค 52 และบริษัทก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานที่ลงลายมือชื่อและมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทำให้พวกเราหลายคนสับสนพวกเราจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงไปแนวทางเดียวกันดังนี้
1.ข้อเรียกร้องที่ยื่นเป็นการสิทธิ์ตามกฎหมายโดยการเข้าชื่อให้ได้ 15% ส่วนพนักงานที่เซ็นต์ชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามที่แจ้งให้ทราบแล้วนั้นและข้อเรียกร้องไม่ให้หักค่าจ้างและให้จ่ายโบนัสเท่าเดิม ส่วนกรณีที่มีบุคคลภายนอกหรือบางกลุ่มพยายามที่ทำทุกอย่างเพื่อให้พวกเราถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องนั้นก็เพราะว่า เขาต้องการให้ข้อเรียกร้องที่มีคนลงลายมือชื่อไม่ถึง 15%หรือไม่ก็ให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อที่จะได้หักค่าจ้างพวกเราหรือจะทำอะไรกับพวกเราก็ได้แต่ถ้าหากพวกเราไม่ถอนชื่อและมาลงลายมือชื่อสนับสนุนกันมาก ๆก็จะนำไปสู่การเจรจากันและมีข้อตกลงร่วมกันการลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องหรือถอนชื่อจากข้อเรียกร้องเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนแต่สิ่งที่พวกเราทำลงไปก็ทำเพื่อทุกๆคน
2.  การหักค่าจ้าง 13.04% ตามกฎหมายแล้วเขาไม่ให้หักค่าจ้างนอกจากหักเกี่ยวกับเงินประกันสังคม,เงินภาษี,เงินสหกรณ์,เงินค่าบำรุงสหภาพแรงงาน,เงินกองทุน การหักเงินต้องได้รับการยินยอมจากพนักงานก่อนหากเราไม่ยินยอมการหักเงิน 13.04% ก็ไม่สามารถทำได้(พรบ.คุ้มครองแรงงานมาตราที่ 76)
3. การที่บริษัท อ้างว่าถ้าไม่ถอดถอนชื่อจากข้อเรียกร้องจะไม่ได้โบนัสในกรณีดังกล่าวเป็นการข่มขู่เพื่อให้เราถอนชื่อ ส่วนเรื่องของโบนัสทุกคนต้องได้รับอยู่แล้วเพราะเป็นค่าตอบแทนสำหรับการทำงานปี 2551 ที่ผ่านมาเรามีการเจรจาในข้อเรียกร้องอยู่  หากมีการจ่ายให้คนที่ไม่ลงชื่อสนับสนุนพวกเรา 2 เดือน  ก็ขอให้พวกเราสบายใจได้เลยว่า ตอนนี้พวกเรามีเงินโบนัส 2 เดือนอยู่แล้วทุกคน ส่วนจะได้มากกว่าเดิมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน
4.ข้อเรียกร้องที่บริษัทได้ยื่นให้กับพนักงานที่ลงลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนพวกเราโดยบริษัทอ้างว่าจะลดค่าจ้าง 35% และสวัสดิการอื่นๆนั้นทางผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ตกลงยอมให้หักอยู่แล้วเพราะหัก 13.04% พวกเรายังไม่ยอมเลย หากเราไม่ยอมตกลงเขาก็หักไม่ได้และจะมาหักเฉพาะกลุ่มยิ่งเป็นไปไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีเหตุผลเป็นการตอบโต้ให้พวกเราเกิดความกลัว
5. กรณีที่บริษัทไม่ให้ตัวแทนพนักงานเข้าทำงานแต่จ่ายค่าจ้างให้และสวัสดิการตามปกติ โดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้แต่วิธีการดังกล่าวเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจ ให้กับผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องและสร้างความแตกแยกเพราะมีบางคนบอกว่าตัวแทนโดนซื้อตัวไปแล้วก็ขอให้พวกเราอย่าไปเชื่อคนที่ปล่อยข่าวเพราะบริษัททำหนังสือออกมาชัดเจนว่าไม่ให้เข้าทำงานแต่จ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ เพราะการกระทำดังกล่าวเขาต้องการแบ่งแยกแล้วทำลายเป้าหมายของเรา
6. กรณีที่ใครไม่ยอมเซ็นชื่อถอดถอนข้อเรียกร้องแล้วถูกโยกย้ายหน้าที่การงานตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้เพราะอยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องห้ามโยกย้ายกลั่นแกล้งพนักงานที่มีลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพราะการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย(มาตรา 31)
7. ข้อเรียกร้องที่ยื่นไปอยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นก็จะมีทั้งหมด 3 ฝ่าย 1. ตัวแทนพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี 2. ผู้แทนบริษัท  3.ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างซึ่งมีการนัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ 23 มี.ค. 52 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ. ชลบุรี ก็ขอให้พี่น้องคอยติดตามหากพวกเราถอนรายชื่อจากข้อเรียกร้องมากๆ ผลการเจรจาอาจไม่มีความคืบหน้าหรือไม่มีการเจรจากัน
8. กรณีที่มีกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกประกอบด้วยหลายๆสหภาพแรงงานที่มาร่วมชุมนุมกับพวกเรานั้นทุกคนเขาต้องการที่จะให้กำลังใจพวกเราและไม่ต้องการให้พวกเราถูกเอาเปรียบโดยเฉพาะที่บริษัทจะละเมิดกฎหมายทุกคนที่มาต้องการเห็นบริษัทและลูกจ้างหาข้อยุติร่วมกันเพราะทุกคนที่มาก็ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร                                                   9. การชุมนุมของพวกเราก็เป็นสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเราชุมนุมกันอย่างสงบและพวกเราชุมนุมกันหลังเลิกงานเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นให้เราเข้าใจเรื่องสิทธิตามกฎหมาย
10. จากปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากกรณีที่บริษัทต้องการให้เราเซ็นต์ชื่อเพื่อหักค่าจ้างด้วยวิธีการต่างๆและเพื่อให้เราถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง เขาทำเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา  ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
11. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพวกเราจึงแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับหน่วยงานต่างๆดังนี้
            1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
            2. อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
            3. ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
            4. ประธานสมานฉันท์แรงงานไทย
            5. ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
            6. ประธานคณะทำงานกลุ่มแหลมฉบัง
            7. ประธานกลุ่มทำงานแรงงานบ่อวินสัมพันธ์
            8. หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
            9. ประธานสหภาพแรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งประเทศไทย
            ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องพนักงานสยามมิชลิน จำกัด ได้พิจารณาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นจะตัดสินใจกันอย่างไรก็เป็นสิทธิของแต่ละคนแต่สิ่งที่ผู้แทนและพี่น้องของท่านทำอยู่ก็เพื่อต้องการปกป้องสิทธิของเราไม่ให้ถูกละเมิดเพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่าให้ใครมากดขี่ ข่มเหง หากพี่น้องร่วมมือกันทุกคน เราเชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
                                **ไม้ซีกน้อยด้อยแรงงัด หากรวมมัดกันแล้วมุ่ง
                    รวมใจงัดไม้ซุง           มีหรือมิเคลื่อนไป
                    กำลังอันน้อยนิด                   จะพิชิตอำนาจใหญ่
                    รวมพลังเข้าผลักใส     ใหญ่แค่ไหนไม่อาจทาน
                    มาเถิดไม้ซีกน้อย                  ถึงจะด้อยแต่อาจหาญ
                    สองมือมีแรงงาน                  ใครจะต้านพลังเรา **           
                                               

                                     * ความสามัคคีเท่านั้นที่ทำให้เกิดสุข *
ด้วยจิตคาราวะ
ผู้แทนพนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด



แถลงการณ์
ฉบับที่ 3
คนงานสยามมิชลิน ถูกปล้นเงินเดือนและสั่งปิดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

สวัสดี เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชน ทุกท่าน 
คนงานสยามมิชลิน จำกัด ที่ผลิตยางมิชลินส่งขายทั้วโลก ถูกนายจ้างขู่บังคับเซ็นต์ชื่อหักค่าจ้าง 13.04 % และหักค่าจ้าง35% ลดสวัสดิการต่างๆ สำหรับพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้อง  และปิดงานเฉพาะส่วนเพื่อต้องการลอยแพพนักงานเพราะเหตุที่พนักงานยื่นข้อเรียกร้องและรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน กระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษชน
บริษัทสยามมิชลิน จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ แหลมฉบัง เลขที่ 87/11 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯตั้งมาเมื่อ ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 38,170,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท  มีบริษัทแม่อยู่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทสยามมิชลินกรู๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่  มีกรรมการ 7 คนที่มีอำนาจ คือ 1. นายพราชาน พราบู 2.นายคาร์ล ฟริตท์ 3.นายเชน ฦาไชย 4.นายสมชาย สัณห์วิญญู 5.นายอองเดร ดงซาลาซ 6.นายอูเว แจ็คสดัดท์ 7.เฟรดเดอวิด ปาทรคแวงชองท์  บริษัทฯในเครือ 9 บริษัท  ประกอบกิจการประเภทผลิตยางรถยนต์ มิชลิน  ส่งขายภายในประเทศและ ต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งยางรถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพดี และมีราคาแพงมาก  มีพนักงานทั้งหมด 1,200 คน ตลอดเวลาที่บริษัทฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง เช่นรายได้รวม ปี 48 เท่ากับ 16,928 ล้านบาท ปี 49เท่ากับ 20,299 ล้านบาท และปี 50เท่ากับ 22,123ล้านบาท กำสุทธิ ปี 48 เท่ากับ 861ล้านบาท ปี 49 เท่ากับ 359 ล้านบาท ปี 50 เท่ากับ 1,114 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น ปี 48 เท่ากับ 77 บาท ปี 49 เท่ากับ 32 บาท ปี 50 เท่ากับ 90 บาท รวมสินทรัพย์ ปี 48เท่ากับ 14,514 ล้านบาท ปี 50 เท่ากับ16,085 ล้านบาท ปี 50 16,755 ล้านบาท เงินสดและเงินฝากธนาคาร ปี 48 เท่ากับ 28 ล้านบาท ปี 49 138 ล้านบาท ปี50 เท่ากับ 134 ล้านบาท ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  ปี 2551 พนักงานได้ทำงานอย่างหนักเพราะบริษัทฯ ลดจำนวนพนักงานลง แต่กลับเพิ่มเป้าการผลิตมากขึ้น แต่ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงาน กลับไม่ได้ผลตอบแทนในทางที่ดี ซึ่งบางอย่างบริษัทฯยังละเมิดกฎหมาย เช่น ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ การปรับค่าจ้างและเงินโบนัส ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนสวัสดิการอื่นๆ ยังได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำกิจการประเภทเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พนักงานไม่เคยเรียกร้องอะไรจากบริษัทฯ เพราะไม่มีใครกล้าเป็นตัวแทน กลัวถูกเลิกจ้าง บริษัทฯ ยิ่งทำยิ่งมีกำไรแต่พนักงานกลับแย่ลง จากการทำงานของปี 2551 พนักงานทุกคนหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม  แต่ผลตอบแทนที่ได้รับคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯได้เรียกพนักงานทั้งหมดประชุมและขอลดค่าจ้างพนักงาน 13.04 %อ้างเหตุผลว่า บริษัทฯมียอดสั่งซื้อลดลง แล้วให้พนักงานลงลายมือชื่อ ยินยอม หากใครไม่ยอมจะข่มขู่ และให้เขียนใบลาออก ถูกย้ายงาน หรือเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน ก็มีพนักงานบางส่วนไม่ยอมให้หักค่าจ้าง เพราะการหักค่าจ้างนั้นทำให้พนักงานมีผลกระทบได้รับความเดือดร้อน และการกระทำดังกล่าวก็ผิดกฎหมาย หากบริษัทฯประสบปัญหาก็ต้องหาวิธีการอื่นที่มีผลกระทบกับพนักงานน้อยที่สุด พนักงานจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้างและคงสภาพการจ้างเดิมไว้  แต่บริษัทฯกลับตอบโต้ด้วยวิธีการต่าง ๆและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังนี้
1. หลังจากยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 52 เพื่อไม่ให้หักค่าจ้าง 13.04 % แล้ว พนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้อง ถูกข่มขู่ให้ถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง เช่น จะถูกหักค่าจ้างเพิ่มเป็น 35 % ไม่จ่ายโบนัสเดือนเม.ย. 52 ซึ่งเป็นผลกำไรของปี 51 หากถอนชื่อจะได้ 2 เดือนทั้งๆ แต่ละปีได้ปรับเงินขึ้นเพียง 200-300 บาทกว่าจะได้ปรับถึง 13.04%ต้องใช้เวลาสะสมหลายปี การ แต่สำหรับผู้บริหารกลับถูกหักค่าจ้างเพียง 5 % ทั้งที่มีเงินเดือนและสวัสดิการมากกว่าพนักงาน
2. บริษัทฯยื่นข้อเรียกร้องสำหรับพนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเช่น หักเงินค่าจ้าง 35  %,หักเงินช่วยเหลือค่าเดินทาง จาก 36 บ.เหลือ 28 บ.  ,ลดจำนวนวันพักร้อนเหลือ 6 วันตามกฎหมาย ,ยกเลิกการลากิจทั้งหมด    (มีต่อด้านหลัง)
3. พนักงานที่เป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้อง ไม่ให้เข้าทำงาน แต่จ่ายค่าจ้างให้ เพราะต้องการให้พนักงานเกิดการเข้าใจผิดเนื่องจากมีการปล่อยข่าวว่า ตัวแทนถูกจ้างออกแล้ว ทำให้พนักงานที่ลงชื่อเกิดความกลัว และถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง
4. การเจรจาข้อเรียกร้องบริษัทฯไม่มีความจริงใจ ไม่ส่งคนที่มีอำนาจเข้ามาเจรจา ลูกจ้างจึงแจ้งเป็นข้อพาทแรงงาน
5. ปล่อยข่าวว่า บริษัทยางสยาม ที่อยู่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทในเดรือเดียวกัน ย่อมตกลงให้หักค่าจ้าง 13.04 % แล้วเพื่อต้องการให้พนักงาน บริษัทสยามมิชลินยอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ
 6.การไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง ครั้งที่ 1 ตกลงกันไม่ได้ ครั้งที่ 2 ตัวแทนบริษัทฯ หนีกลับก่อน จึงไม่สามารถตกลงกันได้
 7. วันที่ 24 มี.ค. บริษัทฯออกประกาศ ทั้งหมด 3 ฉบับ 1.เรื่องการหยุดการผลิตของบริษัทฯเป็นการชั่วคราว 3 วันคือ 24-26 มี.ค.52 แต่จ่ายค่าจ้างให้  2.เรื่องใช้สิทธิปิดงานเฉพาะส่วนทั้งหมด 383 คน วันที่ 25 มี.ค. 52 เวลา 12. 00 น.จากพนักงาน 1,200 คน 3. เรื่องขอยกเลิกคำสั่งงดมอบหมายงาน สำหรับผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องทั้งหมดเพราะหลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้วบริษัทฯไม่ให้เข้าทำงานแต่จ่ายค่าจ้างให้
 8.พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งต่อไปวันที่  26 มี.ค. 52 เวลา 14.00 น. ณ. สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ชลบุรี
  9.ยื่นหนังสือร้องเรียน กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการ การแรงงานสภาผู้แทนราษฎร,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน,อธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน,คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย,สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย,กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
  10. กรรมาธิการ การแรงงานสภาผู้แทนราษฎรนัดพบวันที่ 25 มี.ค. 52 เวลา 10.30 น.ที่อาคารรัฐสภา

จากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นบริษัทฯไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาแต่เขาทำเพื่อต้องการลดต้นทุนอย่างเดียวเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึง ผลกระทบความเป็นอยู่ของลูกจ้าง ไม่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรม ,ละเมิดกฎหมาย,ระเมิดสิทธิแรงงาน ,ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นพนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ที่ถูกนายจ้างปิดงานจึงชุมนุมกันอยู่ที่หน้าบริษัทฯ ที่นิคมฯแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จึงยื่นหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เรียกร้องเพื่อสิทธิอันพึ่งมีพึ่งได้ตามกฎหมาย ดังนี้
1.ให้บริษัทฯยุติการหักค่าจ้างของพนักงาน13.04%ให้หาทางออกอย่างอื่นหากบริษัทฯมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในขณะนี้
2.ให้ส่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจฝ่ายนายจ้างมาเจรจาข้อเรียกร้องกับลูกจ้าง
3.ให้ยุติการแทรกแซงดำเนินการการใดๆอันเป็นผลทำให้ลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้อง
4. ไม่ให้แทรกแซงการดำเนินการของพนักงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
5.ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา หาข้อยุติ เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งกันไป มากกว่านี้

ดังนั้นพวกกระผมพนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด จึงขอชี้แจงให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พ่อค้า ประชาชนและสื่อมวลชนทุกท่านได้ทราบถึงความเดือดร้อนของคนทำงานที่นายทุนเอารัดเอาเปรียบอาศัยสถานการณ์เพื่อต้องการลดต้นทุน โดยการลดเงินเดือนของพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยอยู่แล้ว เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ทั้งที่คนงานเป็นคนสร้างผลกำไรให้บริษัทฯมาตลอด และหวังว่าทุกท่าคงให้การสนับสนุนในการต่อสู้ครั้งนี้ของพวกเราชาวสยามมิชลิน

ด้วยจิตคารวะ
พนักงานสยามมิชลิน

แถลงการณ์ ฉบับที่ 4
การใช้สิทธิปิดงานและนัดหยุดงาน

สวัสดีเพื่อนพี่น้อง สยามมิชลิน จำกัด
ตามที่พวกเราได้เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เป็นการยื่นข้อเรียกร้องตามที่กฎหมายกำหนด ต่อมาบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานที่ลงชื่อในข้อเรียกร้องเพื่อลดค่าจ้างและสวัสดิการบางอย่างลง และมีบางคนได้ให้พนักงานถอนชื่อจากข้อเรียกร้อง และมาลงชื่อเพิ่มเติมในข้อเรียกร้องใหม่ ต่อมาการเจรจาข้อเรียกร้องไม่สามารถหาข้อยุติได้ เจ้าหน้าที่แรงงานจึงนัดไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้สิทธิตามกฎหมายกำหนด จนนำไปสู่การใช้สิทธิปิดงานของนายจ้างและใช้สิทธินัดหยุดงานของลูกจ้าง ทำให้หลายคนเกิดความสับสนยังไม่เข้าใจ ดังนั้นทางตัวแทนขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องดังนี้
1. พนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องและลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียก ได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายเช่นห้ามกลั่นแกล้ง โยกย้ายจนนำไปสู่การเลิกจ้างและ เรายื่นข้อเรียกร้อง เพื่อต้องการไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้าง 13.04%
2. ข้อเรียกร้องที่บริษัทฯยื่นกับพนักงานที่ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอลดค่าจ้าง 35%และสวัสดิการต่างๆนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่เกิดจากความเป็นจริงจะมาเลือกปฏิบัติเฉพาะพนักงานบางส่วนไม่ได้ และข้อเรียกร้องนั้นตกไปเนื่องจากบริษัทฯไม่แจ้งข้อพิพาทภายใน 24 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้ข้อเรียกร้องนั้นตกไป  และพวกเราก็ไม่รับข้อเสนอเขาอยู่แล้ว
3. พนักงานที่เข้ายื่นข้อเรียกร้องแล้วบริษัทฯปิดงานเฉพาะบางส่วนแล้วไม่ได้รับค่าจ้างนั้นเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติทำให้พวกเราเกิดความกลัว พวกเรายื่นข้อเรียกร้อง เพื่อต้องการไม่ให้เขาหักค่าจ้าง สิ่งที่พวกเขาทำนั้น เป็นสิ่งที่บริษัททำผิดกฎหมาย
4. ผู้แทนลูกจ้างใช้สิทธินัดหยุดงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2552 เวลา 13.00 น.พนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องและเข้าชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพิ่มเติมหยุดงานได้ไม่ผิดกฎหมาย จนกว่าข้อเรียกร้องจะหาข้อยุติ
5. พนักงานที่บริษัทฯเอารถไปรับแล้วมาทำงานก็ไม่ต้องเซ็นต์ชื่ออะไรเป็นสิทธิของเราที่จะไม่เซ็นต์ก็ได้เพราะมันจะมีผลกับการเจรจาข้อเรียกร้องที่เราไม่ต้องการให้หักเงินค่าจ้าง และเขาไม่ต้องการให้พวกเรามาร่วมกันหยุดงานเพราะกลัวมีอำนาจต่อรอง
6. หากเลือกเซ็นชื่อในหนังสือที่บริษัทฯทำขึ้นมาก็ให้มาเซ็นชื่อยกเลิกกับตัวแทนเพื่อเข้าร่วมสนับสนุนในการนัดหยุดงาน
7. มีใบปลิวที่บริษัททำออกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ถึงครอบครัวพนักงานอ้างว่าดูแลพนักงานดังทรัพยากรอันมีค่ามาตลอดเสมือนเป็นหนึ่งคนในครอบครัวเดียวกัน ปรับปรุงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อความทั้งหมดนั้นจริงหรือเปล่าพนักงานคิดดูว่า บริษัทฯมีผลกำไรมาโดยตลอด แต่ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆของเราน้อยกว่าบริษัทฯที่ทำกิจการประเภทเดียวกัน หากคิดว่าเราเป็นคนในครอบครัวกันทำไมต้องหักค่าจ้างเรา 13.04%แต่ผู้บริหารหัก 5%การหักเงินพนักงานทำให้มีผลกระทบถึงครอบครัวของพนักงานซึ่งข้ออ้างต่างๆไม่เป็นความจริง
8. บริษัทฯบอกว่าได้แรงงานสัมพันธ์ดีเด่นต่อเนื่องติดต่อกันก็เกิดจากความร่วมมือของพนักงาน แต่บริษัทฯใช้วิธีการต่อหักเงินพนักงาน และไม่ฟังความคิดเห็นของพนักงานทั้งๆที่แรงงานสัมพันธ์ที่ดีนั้นทั้งสองฝ่ายหันหน้าปรึกษากันและแก้ปัญหาร่วมกันไม่ใช้บอกให้ลูกจ้างยอมอย่างเดียว แล้วมาอ้างแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นอย่างนี้ต้องให้กระทรวงแรงงานเอารางวัลคืน
9. บริษัทฯบอกว่ามีบุคคลบางกลุ่มร่วมกับบุคคลภายนอกร่วมชุมนุมต่อต้านปราศรัย แจกใบปลิว ใช้ถ้อยคำรุนแรง ข่มขู่คุกคามความปลอดภัยของพนักงาน เป็นเหตุให้บริษัทฯระงับการจ่ายโบนัส 2 เดือน ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่เราทำคือไม่ต้องการให้บริษัทฯหักค่าจ้างไม่ได้มีการข่มขู่ แต่บริษัทฯต่างหากที่ข่มขู่พนักงานที่ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ และบุคคลภายนอกคือ สหภาพแรงงานต่างๆที่เราเห็นว่าบริษัทฯทำไม่ถูกต้องจึงต้องมาให้กำลังใจเพราะพนักงานทุกคนคือพี่น้องกัน แต่คนที่บอกว่าอยู่เหมือนครอบครัวเดียวกันกลับทำลายกัน
10.  พนักงานทุกคนที่รับเงินเดือนถูกหัก 13.04%แต่พนักงานที่ไม่ยอมให้เซ็นต์ไม่ถูกหัก จะเห็นได้ว่าการหักเงินเดือนจะต้องได้รับการยินยอมจากพวกเรา หากพวกเราไม่ต้องการให้หักเงินเดือนต้องมีวิธีเดียวคือ ต้องให้การสนับสนุนในข้อเรียกร้องของพวกเรา สำหรับคนที่มีชื่อและลายมือชื่อต้องร่วมมือกันใช้สิทธิให้มากๆจะได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น หากพวกเรามีน้อยเราก็ไม่มีอำนาจต่อรอง เราจะถูกหักค่าจ้างไปเรื่อยๆร่วมทั้งจะนำไปสู่การลดสวัสดิการของพวกเราทุกคน         ความสามัคคีเท่านั้นจึงจะนำไปสู่ความสำเร็จ
                                                                                         
                                                                                                                       ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น
                                                                                                               พนักงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด

                                                              แถลงการณ์
ฉบับที่ 5
คนงานสยามมิชลิน ถูกหักเงินเดือนและสั่งปิดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

สวัสดี เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชน ทุกท่าน 
บริษัทสยามมิชลิน จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ แหลมฉบัง เลขที่ 87/11 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯตั้งมาเมื่อ ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 38,170,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท  มีบริษัทแม่อยู่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทสยามมิชลินกรู๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่  บริษัทฯในเครือ 9 บริษัท  ประกอบกิจการประเภทผลิตยางรถยนต์ มิชลิน  ส่งขายภายในประเทศและ ต่างประเทศทั่วโลก  มีพนักงานทั้งหมด 1,500 คน ตลอดเวลาที่บริษัทฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ถ้าพูดถึงยางมิชลิน ทุกคนจะรู้ว่ามีคุณภาพและมีราคาแพง ได้มาตรฐาน ก็เกิดจากความสามารถของคนงาน แต่คนงานที่ผลิตยางมิชลิน กลับได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเพียงน้อยนิด มิหนำซ้ำปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯ อ้างว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงลดเงินเดือนพนักงานลง 13.04% โดยการข่มขู่ให้พนักงานเซ็นต์ชื่อยอมให้หักค่าจ้าง สร้างความเดือนร้อนให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น พนักงานจึงเรียกร้องเพื่อไม่ให้หักค่าจ้าง แล้วบริษัทฯ ก็ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานเพื่อขอหักค่าจ้างเป็น 35 % และลดสวัสดิการอื่นลงอีก การเจรจาตกลงกันไม่ได้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ บริษัทฯจึงปิดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และได้ทำหนังสือไปถึงครอบครัวพนักงานว่าคนงานที่ร่วมชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้บริษัทฯ ทั้งโทรศัพท์ข่มขู่พนักงานจนทำให้บางคนเกิดความเครียดหวาดระแวงมีอาการไม่ปกติ จึงต้องนำส่งโรงพยาบาล พนักงานรับเงินเดือนของเดือนมีนาคมก็ถูกหักค่างจ้างกันทุกคน รวมทั้งค่าจ้างที่ถูกปิดงานก็ถูกหัก สร้างความเดือดร้อนให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก  ผลการเจรจาข้อเรียกร้องครั้งล่าสุดมีรองผู้ว่าจังหวัดชลบุรีเข้าร่วมเจรจาแต่ยังหาข้อยุติไม่ได้บริษัทฯ อ้างว่าต้องรอทางฝรั่งเศส ตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวบริษัทฯ ต้องการยึดเวลาออกไปเพราะทุกครั้งที่เจรจาก็จะบอกว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจการกระทำดังกล่าวเป็นการบีบคั้นคนงานให้ทนอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องออกจากงานไปเอง โดยที่บริษัทฯ  ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทั้งๆที่บริษัทฯได้ประกาศว่าเป็นบริษัทฯที่ได้มาตรฐาน ได้รับแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นติดต่อกัน แต่การกระทำของบริษัทฯ เขาไม่ฟังความคิดเห็นของคนงานเลย บริษัทฯ ทำเพื่อต้องการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสภาพจิตใจของคนงานและครอบครัวคนงาน ซึ่งบริษัทฯบอกว่าจะดูแลคนงานและครอบครัวคนงานเป็นอย่างดีเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ผู้บริหารกลับถูกหักค่าจ้างเพียง 5% ทั้งๆที่มีค่าจ้างและสวัสดิการดีกว่าคนงาน หากบริษัทฯประสบปัญหา จริงพนักงานทุกคนก็ยินดีที่จะหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่ใช่ใช้วิธีหักค่าจ้างคนงานเป็นจำนวนมากๆอย่างนี้ ยังมีวิธีอื่นอีกมากที่จะแก้ไขปัญหา

ขณะนี้พนักงานที่ถูกบริษัทฯปิดงานได้ชุมนุมกันอยู่ที่หน้าบริษัทฯที่นิคมฯแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2552 จนถึงขณะนี้ เพื่อเรียกร้องไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้างและยกเลิกการปิดงาน และหาทางแก้ไขปัญหารวมกัน  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องผู้ใช้แรงงาน พี่น้องประชาชน เข้าใจในการเรียกร้องของคนงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ให้ได้รับความเป็นธรรม ในครั้งนี้

ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น
พนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด

แถลงการณ์ ฉบับที่  6
คนงานยางสยามพระปะแดงได้เฮ.... หลังจากปิดโรงงานให้บริษัทฯยกเลิกหักเงิน 13.04 %

สวัสดีเพื่อนพี่น้อง สยามมิชลิน จำกัด
ตามที่พวกเราได้เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เป็นการยื่นข้อเรียกร้องตามที่กฎหมายกำหนด ต่อมาบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานที่ลงชื่อในข้อเรียกร้องเพื่อลดค่าจ้างและสวัสดิการบางอย่างลง การเจรจาข้อเรียกร้องไม่สามารถหาข้อยุติได้ เจ้าหน้าที่แรงงานจึงนัดไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้สิทธิตามกฎหมายกำหนด จนนำไปสู่การใช้สิทธิปิดงานของนายจ้างและใช้สิทธินัดหยุดงานของลูกจ้าง และการหยุดงานของพวกเราจนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาหลายวันแล้ว

หลายคนทนไม่ไหวจึงยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทฯเสนอให้ ทำให้พนักงานบางส่วนต่อสู้ต่อไปเพื่อไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้าง ทำให้การเจรจาที่ผ่านมาบริษัทฯพยามยามจะยื้อเวลาให้ยาวนานที่สุด ทั้งที่ผลการเจรจาครั้งล่าสุด ก็ยังตกลงกันไม่ได้ และบริษัทฯก็ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อดึงคนงานเข้าทำงาน

แต่พี่น้องเราที่ทำงานอยู่ยางสยามพระปะแดงได้เจรจาที่ศาลากลางจังหวัดไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้าง13.04 % ผลการเจรจาตกลงกันไม่ได้ และมีการบอกว่า หากพวกเราไม่ยอมก็ต้องขอหนังสือคืน ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทฯ ต้องการไปขอหนังสือที่ยอมให้หักเงินคืน แต่บริษัทฯ กลับปิดประตู ทำให้พนักงานทั้งหมด ปิดประตูบริษัทฯทุกประตูไม่ให้เข้าทำงานและไม่ให้คนข้างในออก เพื่อต้องการให้บริษัทฯยกเลิกการหักค่าจ้างที่เซ็นต์ชื่อยอมให้หัก ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเจรจา จึงสามารถตกลงกันได้ ทำให้บริษัทฯประกาศยกเลิก การหักเงินค่าจ้างของพนักงานทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลว่ามีงานเข้ามา และพนักงานทุกคนก็ได้หนังสือที่ยอมเซ็นชื่อคืน จากบริษัทฯ
         
แต่ในส่วนสยามมิชลิน ที่แหลมฉบังก็ยังถูกหักค่าจ้างเหมือนเดิม เพราะอำนาจการต่อรองของพวกเราไม่มากไม่เหมือนพระปะแดงที่พนักงานทุกคนเขาร่วมมือกันเพื่อต่อรอง หากพระปะแดงยกเลิกได้ทำไมบริษัทฯ ของพวกเราจึงไม่ประกาศยกเลิกบ้าง ทั้งๆที่บริษัทฯบอกว่าเป็นนโยบายเหมือนกัน แต่เรายังถูกหักเงินค่าจ้างจนกว่าเศรษฐกิจจะดี
         
         ดังนั้นจึงอยากให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจเรี่องสิทธิของตัวเองหากเราไม่ยอมเซ็นต์ชื่อให้บริษัทฯหักค่าจ้างเขาก็หักเราไม่ได้แต่ถ้าหากเพื่อนๆ ยอมให้หักการเจรจาต่อรองของพวกเราก็ไม่ประสบผลสำเร็จหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆจะเข้าใจในสิ่งที่พวกเราทำถึงแม้ว่าจะเป็นพนักงานเพียงบางส่วนที่ต่อสู้อยู่แต่พวกเราทำเพื่อทุกคนและจะทำให้ดีที่สุด ทุกคนคือเพื่อนของเรา
                                                                                      ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น
                                                                             พนักงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด





แถลงการณ์ ฉบับที่7        
นายจ้างยื้อเวลา  การเจรจาไม่เป็นผล  ลูกจ้างสุดทน!!ปิดโรงงานมิชลิน

                สืบเนื่องมาจากการเจรจาในวันที่   9 เม.ย.52 ที่กระทรวงแรงงาน  ยังไม่มีข้อยุติ ฝ่ายลูกจ้างจึงได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัทฯกลับไปพิจารณาดังนี้
                1.ยินยอมให้หักค่าจ้าง 13.04 % โดยมีเวลาสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้  ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นค่อยกลับมาพิจารณากันใหม่
               2. ยอมรับโบนัส  2  เดือนตามประกาศของบริษัทฯโดยจ่ายให้พนักงานทุกคน   สิ้นเดือนเม.ย.นี้  ทั้งนี้เพื่อต้องการได้ข้อยุติ และให้พนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานได้รับค่าจ้างตามปกติ
              แต่การเจรจาในวันที่ 20 เม.ย.52  ครั้งล่าสุด ที่กระทรวงแรงงาน  กลับไม่ได้รับคำตอบที่ดีเหมือนเช่นเคย  สุดท้ายเรายอมสุดๆขอถอนข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้กลับสู่สภาวะเดิม ให้บริษัทฯหักเงินได้เหมือนเดิม  แต่บริษัทฯไม่ยอม  พยายามบ่ายเบี่ยง และยื้อเวลาออกไป แถมยังจะให้หักค่าจ้าง 35% ตามข้อเรียกร้องเดิมของบริษัทฯอีกด้วย   จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมอย่างยี่ง
               ขณะนั้นเวลา 16.00 น.ตัวแทนเจรจาฝ่ายนายจ้างคงได้รับทราบว่ามีการปิดโรงงานมิชลินแหลมฉบัง จึงถือโอกาสยุติการเจรจา และกลับออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่รอใบบรรทึกการเจรจา
               จากการที่พนักงานมิชลินแหลมฉบังได้ปิดโรงงาน  เนื่องจากได้รับความกดดันถึงขีดสุด และได้ทำตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว  และการเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมาก็พยายามที่จะหาทางออกร่วมกันแล้ว  แต่บริษัทฯไม่แสดงความจริงใจในการเจรจาเลย    เราจึงไม่มีทางเลือกจึงต้องใช้วิธีการนี้   และขอประกาศใหม่ว่าจะไม่ใหับริษัทฯหักค่าจ้าง 13.04 %ของพวกเราเลย
                 ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนเพื่อนพนักงานทุกคนออกมาร่วมกันต่อสู้   เพื่อเรียกร้องเงินของเรากลับคืนมา   เราต้องร่วมแรงร่วมใจกัน  ทำให้สำเร็จเหมือนกับที่ยางสยามพระประแดง ที่ตอนนี้ได้ยกเลิกการหักเงินไปแล้ว และไม่มีความผิดใดๆทั้งสิ้น  พวกเราเชื่อว่าขอเพียงพี่น้องทุกคนออกมาช่วยกัน  เราสำเร็จเหมือนพระประแดงอย่างแน่นอน


                                                                                                ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น

                                                                                           สหภาพแรงงานมิชลิน ประเทศไทย


การเจรจาครั้งล่าสุด(ครั้งที่7)ก่อนเกิดการปิดล้อมงาน   ฝ่ายพนักงาน(สหภาพฯ)ยอมรับในข้อเสนอบางส่วนแต่ฝ่ายตัวแทนเจรจานายจ้างอ้างไม่มีอำนาจตัดสินใจ








ผู้ว่าราชกาลจังหวัดชลบุรีขณะนั้นมาตรวจเยี่ยมม๊อบ






หลังจากการเจรจาไม่บรรลุพนักงานปิดล้อมบริษัทฯเพื่อให้บริษัทฯส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจา แต่ในช่วง 7 วันของการปิดล้อมแกนนำ 20 คนถูกแจ้งข้อหาและถูกจำคุกในเรือนจำกลางชลบุรี 2 วัน 1 คืน (โดยศาลแรงงาน 2 จังหวัดชลบุรี) และหลังจากนั้นถูกพนักงานและหัวหน้างานแจ้งความตามอีกรวมทั้งการนิคมแหลมฉบังก็แจ้งความเช่นเดียวกัน







สาส์นจากประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ฉบับที่ 1                             
   สวัสดี เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวมิชลินทุกท่าน
         หลังจากการชุมนุมประท้วงเพื่อไม่ให้บริษัทฯหักเงินเดือน 13.04 % ได้ยุติลงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.52 ข่าวคราวและการสื่อสารต่างๆอาจจะเงียบหายไปพอสมควร แต่ไม่ได้หนีหายไปไหน แกนนำยังอยู่กันครบทุกคน  ได้ติดตามข่าวสารด้านในบริษัทฯมาโดยตลอดจากสมาชิกที่ได้กลับเข้าทำงานแล้ว กรรมการและแกนนำอื่นๆที่ยังไม่ได้เข้าทำงานก็ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยได้ไปอบรมเรียนรู้กับองค์กรแรงงานในสถานที่ต่างๆ เช่น เกี่ยวกับสหภาพฯบทบาทหน้าที่ของกรรมการ กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรฐานแรงงานสากลที่บริษัทฯของเรายังละเลยในการปฏิบัติอยู่ ทำให้มีความรู้ มีความเข้าใจ มีโลกทัศน์กว้างขึ้นและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ในโอกาสต่อไปเพื่อนๆสมาชิกคงได้เข้าอบรมเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เช่นเดียวกัน
              นอกจากนี้ยังได้ออกไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากนายจ้างที่พยายามใช้วิกฤติจากภาวะเศรษฐกิจให้เป็นโอกาส โดยการเลิกจ้างคนท้อง และกรรมการสหภาพฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด มีพนักงานประมาณ 1,500 คน เป็นผู้หญิงประมาณ 95 % ใช้เวลาเพียง 5 วัน ก็สามารถยุติปัญหานี้ได้ เนื่องจากพวกเขาออกมาชุมนุมกันค่อนข้างมาก มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบากและคำข่มขู่ต่างๆจากนายจ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมดก็ตาม ตรงนี้พวกเราประทับใจมากและอยากจะเห็นพี่น้องมิชลินเป็นแบบนี้บ้าง คิดว่าถ้าพวกเรารู้ถึงสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง พวกเราต้องทำได้อย่างแน่นอน
             สำหรับการเรียกร้องของเรานั้น ถึงแม้ว่าบริษัทฯยังหักเงินเดือนของเราอยู่ แต่อย่างน้อยเรายังมีเวลา 6 เดือนไว้สำหรับพิจารณากันใหม่ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งโบนัสล่าสุด ถ้าเราไม่มีการชุมนุมกันพี่น้องคิดว่าเราจะได้ 2 เดือนหรือไม่ การต่อสู้ที่ผ่านมาแม้ว่าพวกเราจะมีน้อยแต่ก็ได้ต่อสู้ด้วยความอดทน รักและสามัคคีกัน ถ้าในตอนนั้นพี่น้องออกมาช่วยกันมากกว่านี้เราอาจจะไม่ถูกหักเงินเหมือนกับยางสยามพระประแดงก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้แพ้อย่างที่มีคนออกมาโจมตีใช่หรือไม่ และที่สำคัญก็คือตอนนี้ มิชลินแหลมฉบังมีสหภาพแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผมได้แจ้งเป็นหนังสือถึงบริษัทฯและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เรื่องการมีสหภาพฯและแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง 8 คนในบริษัทฯ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของพนักงานที่จะขึ้นไปพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทฯ
             พี่น้องครับ การมีสหภาพแรงงานไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายหรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี  แต่กลับทำให้บริษัทฯมีความเจริญเติบโตมากขึ้นเพราะสมาชิกจะช่วยกันทำงานเพื่อให้บริษัทฯมีผลกำไร สามารถอยู่ได้ และต้องการผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลกลับคืนมาด้วยเช่นกัน  แต่ต้องมีสิ่งการันตีด้วยว่าเมื่อทำดีแล้วต้องได้ดี นั่นคือการมีสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรของเรา เป็นพวกเรา ที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของพวกเราอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเราทำมากเท่าใดก็ตามแต่สิ่งที่ได้เป็นเพียงเศษๆของกำไรเท่านั้นเอง ผมขอยืนยันว่าไม่มีบริษัทฯใดในโลกนี้ที่เจ๊งเพราะมีสหภาพแรงงาน เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องมาสมัครเป็นสมาชิก จ่ายค่าบำรุง และมาช่วยกันสร้างองค์กรนี้ให้เข้มแข็งต่อไป
          บริษัทฯอื่นๆเท่าที่รู้มาเขามีสหภาพแรงงานกันเกือบหมดแล้ว ในกลุ่มรถยนต์  เช่น ฟอร์ดและมาสด้า ,มิตซูบิชิ,โตโยต้า,อีซูซุ,บีเอ็มดับเบิ้ลยู,จีเอ็ม, ในกลุ่มน้ำมัน เช่น ไทยออย ,เอสโซ่ ซึ่งมีถึง 2 สหภาพทั้งของผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติการ ในกลุ่มยาง เช่น กู๊ดเยียร์,บริดจสโตน,โอตานิ,ไอ.อาร์.ซี.  ก็เห็นได้ว่าบริษัทฯมีความเจริญเติบโตดี  โบนัส สวัสดิการ และสภาพการจ้างเขาก็ดีกว่าเรามาก  เปรียบเทียบกับกลุ่มยางด้วยกันแล้วเราได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเขา ทั้งๆที่ยางของเราขายราคาแพงกว่า กำไรมากกว่า ค่าแรงและสวัสดิการน้อยกว่า แต่ก็น่าแปลกว่าทำไมเราได้น้อยกว่าเขา ถึงเวลาแล้วพี่น้องที่เราจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่เราควรจะได้ ร่วมกันต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพี่น้องพระประแดง ซึ่งผมก็ได้ประสานงานกันอยู่เรื่อยๆ คาดว่าในอนาคตเราคงได้ร่วมงานกัน และอาจจะยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกันในปีหน้าก็เป็นได้ ล่าสุดผมและสมาชิกรวม 15 คนได้มีโอกาสไปสัมมนาร่วมกับกลุ่มยางทั้งหมดที่ จ.นครนายก 2 วัน 1 คืน ได้ความรู้ใหม่ๆมากมายและมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประสบการณ์  อนาคตอันใกล้นี้เราอาจรวมกลุ่มกันในกลุ่มยาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเราเป็นอย่างยิ่ง ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล แต่จะมีการประชุมกันในเร็วๆนี้ ปัญหาของเราที่มีอยู่ตอนนี้คือ ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานครบทุกคน และยังมีคดีอาญาข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวเมื่อวันปิดโรงงาน 20 เม.ย.52 กับแกนนำ 18 คน ที่ยื่นฟ้องในนามของบุคคล 8 คน (รายชื่อสอบถามได้จากกรรมการ) เป็นหัวหน้างานแผนก  Rubber ทั้งหมด ซึ่งได้มีการพูดคุยและขอร้องให้ช่วยถอนแจ้งความแล้วแต่ยังไม่ตอบตกลง ทั้งๆที่ในใบบันทึกข้อตกลงบริษัทฯจะไม่ดำเนินคดีและได้ถอนฟ้องไปแล้ว และเมื่อวันที่ 9 เม.ย.52 ผู้ถูกคดีความทั้งหมดจึงไปมอบตัวที่ สภ.แหลมฉบัง และได้รับความกรุณาจาก ส.ส.พจนารถ แก้วผลึก พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 จ.ชลบุรี ประกันตัวออกมา และช่วยติดตามเรื่องนี้ให้ วันที่ 10 เม.ย.52  ผมได้ทำหนังสือร้องเรียนและเดินทางไปยื่นเรื่องให้กับ คณะกรรมการกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ด้านนี้โดยตรง ให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง  ดูแล้วก็ไม่น่าหนักใจ พี่น้องไม่ต้องเป็นห่วง  เมื่อปัญหาทุกอย่างจบแล้ว แกนนำทุกคนจะกลับเข้าไปทำงานพร้อมๆกับพวกเรา  สำหรับข่าวสาร ต่อไปจะชี้แจงให้บ่อยขึ้น และฝ่ายประชาสัมพันธ์จะออกเป็นแผ่นพับประจำเดือนว่ากิจกรรมต่างๆที่เราทำอยู่และกำลังจะทำต่อไปมีอะไรบ้าง พี่น้องที่ทำงานอยู่ด้านใน ถ้ามีข่าวสารก็สามารถแจ้งผ่านตัวแทนของท่านหรือจะมาเยี่ยมชม มาดูการทำงานของคณะกรรมการก็ได้ ที่ สนง.คณะทำงานกลุ่มแหลมฉบัง ที่อ่าวทอง ตรงข้ามกับบริษัทฯ
              ขอให้พี่น้องมั่นใจในสหภาพแรงงาน มั่นใจในคณะกรรมการ และคณะทำงานทุกคน เพราะเราได้พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้ว และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว แต่ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อพวกเราทุกคน ที่จะให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านๆมา และขอให้ช่วยกันรักษาความสามัคคีที่เราได้แสดงให้นายจ้างได้เห็นแล้ว  ทุกคนต้องช่วยกันสร้างองค์กรนี้ให้เข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกรรมการอย่างเดียวแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะนี่คือองค์กรตัวแทนของเรา และที่สำคัญ เป็นพวกของเรา!! เมื่อพี่น้องทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ผมเชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความสุข

ไม้ซีกน้อยด้อยแรงงัด            หากรวมมัดกันแล้วมุ่ง
รวมใจ งัดไม้ซุง                        มีหรือ มิเคลื่อนไป
กำลัง อันน้อยนิด                     จะพิชิตอำนาจใหญ่
        รวมพลังเข้าผลักใส                ใหญ่แค่ไหนไม่อาจทาน
เถิดไม้ซีกน้อย                   ถึงจะด้อยแต่อาจหาญ
สองมือมีแรงงาน                  ใครจะต้านพลังเรา
                                             
                                                                                        ( ธนกร   สมสิน)
                                                                     ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย



เอกสารประกอบอื่นๆ(หนังสือร้องเรียน)
21 มีนาคม 2552
เรื่อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรียน หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ชลบุรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1.บัญชีผู้ถือหุ้น                           6. หนังสือที่บริษัทฯไม่ให้ผู้แทนเจรจาเข้าทำงาน
                2.หนังสือรับรอง                                        7 . ข้อเรียกร้องบริษัทฯยื่นกับพนักงาน 
                        3.บริษัทในเครือสยามมิชลินกรู๊ป        8. บันทึกการเจรจา
                        4.ข้อเรียกร้อง  1 ชุด                                  9 .หนังสือแจ้งพิพาท                             
                        5.งบกำไรขาดทุนปี 48-50                    10 . บันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

เนื่องด้วยพวกกระผมพนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ แหลมฉบัง เลขที่ 87/11 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯตั้งมาเมื่อ ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 38,170,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท  มีบริษัทแม่อยู่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทสยามมิชลินกรู๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (เอกสาร 1) มีกรรมการ 7 คนที่มีอำนาจ คือ 1. นายพราชาน พราบู 2.นายคาร์ล ฟริตท์ 3.นายเชน ฦาไชย 4.นายสมชาย สัณห์วิญญู 5.นายอองเดร ดงซาลาซ 6.นายอูเว แจ็คสดัดท์ 7.เฟรดเดอวิด ปาทรคแวงชองท์ (เอกสาร2) บริษัทฯในเครือ 9 บริษัท (เอกสาร 3) ประกอบกิจการประเภทผลิตยางรถยนต์ มิชลิน  ส่งขายภายในประเทศและ ต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งยางรถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพดี และมีราคาแพงมาก  มีพนักงานทั้งหมด 1,200 คน ตลอดเวลาที่บริษัทฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงาน กลับไม่ได้ผลตอบแทนในทางที่ดี เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ทำกิจการเหมือนกัน ซึ่งบางอย่างบริษัทฯยังละเมิดกฎหมาย เช่น ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ การปรับค่าจ้างและเงินโบนัส ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนสวัสดิการอื่นๆ ยังได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำกิจการประเภทเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พนักงานไม่เคยเรียกร้องอะไรจากบริษัทฯ เพราะไม่มีใครกล้าเป็นตัวแทน กลัวถูกเลิกจ้าง บริษัทฯ ยิ่งทำยิ่งมีกำไรแต่พนักงานกลับแย่ลง ปี 2551 พนักงานได้ทำงานอย่างหนักเพราะบริษัทฯ ลดจำนวนพนักงานลง แต่กลับเพิ่มเป้าการผลิตมากขึ้น พนักงานทุกคนหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯได้เรียกพนักงานทั้งหมดประชุมและขอลดค่าจ้างพนักงาน 13.04 %อ้างเหตุผลว่า บริษัทฯมียอดสั่งซื้อลดลง แล้วให้พนักงานลงลายมือชื่อ ยินยอม หากใครไม่ยอมจะข่มขู่ และให้เขียนใบลาออก ก็มีพนักงานบางส่วนไม่ยอมให้หักค่าจ้าง เพราะการหักค่าจ้างนั้นทำให้พนักงานมีผลกระทบได้รับความเดือดร้อน และการกระทำดังกล่าวก็ผิดกฎหมาย หากบริษัทฯประสบปัญหาก็ต้องหาวิธีการอื่นที่มีผลกระทบกับพนักงานน้อยที่สุด ส่วนใครที่ไม่ยอมเซ็นต์ชื่อยินยอม ก็ถูกย้ายงาน หรือเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน จึงทำให้พนักงานมีการลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 น.(เอกสาร4 ) เพื่อไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้าง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกับให้บริษัทฯได้จ่ายเงินโบนัสเดือนเมษายนเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะเป็นผลตอบแทนในการทำงานของปี 2551
( เอกสาร 5 ) จริง ๆ พวกเราควรจะเรียกร้องให้ได้มากกว่าปีที่แล้ว แต่เพราะเห็นว่าบริษัทฯมีผลกระทบจึงยอมเรียกร้องให้ได้เท่าเดิม


หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้วบริษัทฯก็ใช้วิธีการเลือกพนักงานให้ไปเซ็นต์ชื่อถอดถอนจากข้อเรียกร้อง โดยการบังคับหากใครไม่ยอมถอนชื่อจะไม่ได้รับโบนัสเดือนเมษายนและหักค่าจ้างเป็น 35%  แต่หากใครยอมถอนชื่อก็จะได้รับโบนัส 2 เดือน  ทำให้พนักงานบางส่วนเกิดความกลัว มีบางคนยอมเซ็นต์ชื่อเพื่อถอนชื่อจากข้อเรียกร้อง และใน
ส่วนผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องบริษัทฯมีหนังสือแจ้งไม่ให้เข้าทำงานแต่ยังจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ (เอกสาร6) มิหนำซ้ำบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานที่ลงลายมือชื่อ เมื่อคืนวันที่ 10 มีนาคม 2552 ปรับลดค่าจ้าง35 % พร้อมลดวันพักร้อนอีก ( เอกสาร 7 )เพื่อเป็นการตอบโต้สำหรับพนักงานที่ไม่ยอมเซ็นต์ชื่อถอนจากข้อเรียกร้อง พนักงานจึงได้ไปร้องเรียนให้กับหัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีได้รับทราบ และท่านได้สั่งให้นายจ้างได้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่นายจ้างกลับไม่สนใจยังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ข้อเรียกร้องตกไป

จากการที่พวกกระผมได้ยื่นข้อเรียกร้อง นายจ้างได้นัดเจรจาในวันที่ 12 มีนาคม 2552 แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ (เอกสาร 8) ทำให้ลูกจ้างแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงาน (เอกสาร 9)ให้กับพนักงานประนอมเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยนัดไกล่เกลี่ยเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552 แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ (เอกสาร 10) จึงนัดไกล่เกลี่ยกันอีกในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา14.00น.ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ชลบุรีเพื่อหาข้อยุติ ข้อเรียกร้องดังกล่าว

ดังนั้นพวกกระผมจึงร้องเรียนมายังท่านเพื่อขอความอนุเคราะห์ ให้ดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังนี้

1.ให้บริษัทฯยุติการหักค่าจ้างของพนักงานแล้วหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยมีตัวแทนของพนักงานและ
   บริษัทฯมาช่วยกันแก้ไขปัญหา
2.ให้ยุติการบังคับให้พนักงานเซ็นต์ชื่อถอนจากข้อเรียกร้องเพราะเป็นสิทธิของพนักงานตามกฎหมาย
3.ให้บริษัทฯรับผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องและพนักงานบางส่วน ที่บริษัทฯไม่ให้เข้าทำงานกลับเข้าทำงาน
  ตามปกติ
4.ให้บริษัทฯส่งผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อหาข้อยุติ 

จากข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมของพวกกระผมทั้งหมดก็เพื่อต้องการให้มีค่าจ้างเพื่อดำรงอยู่ได้ พร้อมกับผลตอบแทนในการทำงานของปีที่ผ่านมา เพราะการหักค่าจ้างเป็นจำนวนมากทำให้พนักงานทุกคนได้รับความเดือดร้อนเพราะค่าจ้างของพนักงานก็ได้ไม่มากมาย  ส่วนผลกระทบเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลกระทบกับบริษัทฯ พนักงานทุกคนก็ยินดีที่จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยดี จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

................................
(นายธนกร สมสิน)
ประธานผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้าง












ยังมีเหตุการณ์หลังจากจบข้อเรียกร้องอีกหลายเหตุการณ์
เดี๋ยวโทรศัพท์ก็ได้น่ะครับ..
ยินดีให้ข้อมูลทุกอย่าง
สมหมาย ประไว
เลขาธิการสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย


Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More