วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำสหภาพฯพื้นที่อุตสาหกรรมแหลมฉบังชี้ถูกละเมิดสิทธิต่อเนื่อง

ผู้นำสหภาพฯพื้นที่อุตสาหกรรมแหลมฉบังชี้ถูกละเมิดสิทธิต่อเนื่อง

21 March 2011 No Comment

ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงานลงพื้นที่อุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เร่งช่วยเหลือผู้นำสหภาพแรงงานที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิและถูกกระทำอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นประเด็นข้อกฎหมาย
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลา 18.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์  ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  คณะของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน นำโดย คุณ ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการและคณะจำนวน 7 คน จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือและกำหนดมาตรการช่วยเหลือแกนนำทั้ง 5 คนของสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด  32 คน  ซึ่งมีนาย สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์ คณะกรรมการ ,อนุกรรมการสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ผู้นำแรงงานจากกลุ่มบ่อวินสัมพันธ์  และคณะอาสาสมัครสิทธิแรงงานในพื้นที่
คุณ ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า หากกล่าวถึง สหภาพแรงงานมิชลินฯแล้ว ถือว่าทุกคนได้ก้าวผ่านอุปสรรคมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ  สหภาพมิชลินฯมีเรื่องราวมากมายให้ศึกษาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย นักศึกษา และทนายความ  เมื่อครั้งที่ไปจัดสัมมนาให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ตัวแทนของ สร.ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สะท้อนมุมมองของคนงานที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะในอนาคตกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย
เป็นจังหวะที่ดีของสหภาพฯมิชลินที่ศูนย์ฯตั้งขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจพอดี และสร.มิชลินฯถือว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทางศูนย์ฯได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระ และสามารถประคับประคองกันให้เรายืนได้ ที่ผ่านมาคิดว่าทุกคนได้กลับเข้าทำงานกันหมดแล้ว แต่เพิ่งมาทราบอีกที เมื่อวันที่ 26, 27 กพ. 54 ที่จัดสัมมนาสรุปบทเรียนของ อสส.และอสร. ที่ จ.สมุทรสงคราม จากตัวแทนสร.ว่ายังมีแกนนำอีก 5 คนที่บริษัทยังไม่รับกลับเข้าทำงาน จึงมีการประชุมในวันนี้เพื่อหาทางให้ทั้ง 5 คน ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามเดิม นาย ชฤทธิ์ กล่าว
จากนั้น การประชุมได้ดำเนินสู่ประเด็นโดย คุณ ชฤทธิ์ ได้ให้ทั้ง 5คนที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานเล่าเรื่องราวและความรู้สึกที่ตัวเอง
นาย สมหมาย ประไว เลขาธิการสหภาพมิชลินประเทศไทยหนึ่งในผู้ที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน เล่าความรู้สึกต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาหลังจากที่มีการชุมนุมประท้วงเพื่อให้บริษัทฯยุติการตัดค่าจ้าง 13.04% เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2552 นั้น ทุกวันนี้ตนเองกับพวก 5 คน ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานในบริษัทเลย แถมยังถูกกดดันสารพัดเพื่อให้พวกตนไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดโบนัส,ตัดวันพักผ่อนประจำปี ส่งพวกตนเข้าฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดถึง10วัน ส่งไปฝึกช่างเชื่อม,ช่างกลึงถึง 6เดือนจนกระทั่งพวกตนไปร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีคำสั่งให้บริษัทมอบหมายงานในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิม ภายในระยะเวลา 10 วัน บริษัทก็ยังละเลยอีก ยังคงให้พวกตนทำงานในส่วนของ Training on thejob หรือฝึกงานเชื่อม เจียร พ่นสี อยู่นอกโรงงานซึ่งเป็นโรงงานที่ปิดกิจการไปแล้วไม่มีโรงอาหาร ไม่มีสถานพยาบาล ไม่มีคนงาน นับเป็นเวลา 2ปีกว่าแล้ว แต่หากนับวันที่เข้าทำในส่วนTraining on thejob นั้นก็เป็นเวลา  212 วัน  ที่ไม่ได้เข้ารั้วโรงงาน แต่พวกตนก็ต้องอดทน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราพยายามสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีแก่นายจ้างมาตลอด ให้เราทำอะไรเราก็ยอมทุกอย่าง เพื่อที่จะสื่อว่าเรื่องราวต่างๆมันจบลงแล้วนะ เราควรหันมาจับมือกันร่วมกันสร้างบริษัทๆและองค์กรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบริษัทๆ เพื่อการมีสวัสดิการที่ดีของพนักงานต่อไป แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าจะเป็นบริษัทเองที่จะตั้งแง่กับพวกเรามากกว่า ละเมิดสิทธิของเราหลายๆเรื่อง
ผมเรียนจบ ม.6 สาย วิทย์-คณิตฯ และต่อปวส. สายบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ และทำงานที่บริษัทฯมาย่างเข้าปีที่ 16 แล้ว ก่อนมีการประท้วงผมทำในตำแหน่งพนักงานประกันคุณภาพ รับผิดชอบตรวจสอบเครื่องอบยางก่อนการผลิตยางรุ่นใหม่ๆ ตรวจสอบอุณภูมิ ระบบการอบ เวลา ของเครื่องให้ได้ตามกระบวนการและมาตรฐานตามที่กำหนด รวมทั้งวิเคราะห์ตัดสินใจยางที่เกิดปัญหาจากกระบวนการอบ ทำงานกะละ 1คนรับผิดชอบทั้งแผนก ผมไม่อยากจะคิดเลยว่า ผู้บริหารที่เมืองไทยสามารถปราบสหภาพแรงงานให้อยู่หมัด ไม่ให้โต บีบผู้นำ โดยใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิแรงงานมากมาย หากแต่เป็นห่วงชื่อเสียงของบริษัทยี่ห้อแบรนด์เนมที่เขาสร้างและรักษามาตลอดเป็นร้อยๆปี ซึ่งเขามีการให้สัตยาบันต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักของ OECD  หรือ อนุสัญญา ILO ว่าจะไม่กระทำกับคนงานอย่างไรบ้างแต่ไม่รู้ว่าผู้บริหารที่เมืองไทยคิดกันหรือเปล่าในข้อนี้ ซึ่งหากความจริงเรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงานถูกตีแผ่สู่สังคมแล้วการจะกลับมาแก้ไขมันยากและลำบากกว่า ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นผู้บริหารก็แค่ลาออก แต่ชื่อเสียงของแบรนด์ของยี่ห้อละ ใครจะรับผิดชอบ นายสมหมาย กล่าวเพิ่มเติม
                คุณ ชฤทธิ์ กล่าวในที่ประชุมต่อว่า เราจะมามองดูว่า คำสั่ง ครส.นั้น สั่งให้บริษัทมอบหมายงานในตำแหน่งงานที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และให้บริษัทฯปฏิบัติภายใน 10วัน ประเด็นนี้น่าสนใจ ฉนั้นขอให้ทุกคนทำบทสรุปและศึกษาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คำร้อง คำขอของลูกจ้าง คำแก้ของนายจ้าง ข้อเท็จจริงของลูกจ้างนายจ้างที่คณะกรรมการฯวินิจฉัยจนนำมาซึ่งการตัดสิน ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามหากเรามีการพูดคุยกับนายจ้างเรื่องการมอบหมายงานได้ก็จะเป็นการดี เพื่อหลักของแรงงานสัมพันธ์ที่ดี
                นาย สุทัศ ทีมนักกฎหมายหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม แสดงความเห็นว่า เราควรกำหนดแผนการเดินเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เช่น เราควรยื่นหนังสือถึงนายจ้างก่อนดีมั๊ยเพื่อให้นายจ้างรับทั้ง 5คนกลับเข้าทำงาน หากนายจ้างไม่สนองเราก็ควรเดินแผนต่อไป หรือเราจะฟ้องดำเนินคดีเลย แต่หากจะดำเนินคดีต่อนายจ้าง ระหว่างนั้นพวกเราจะอยู่กันอย่างไร นี่ก็เป็นประเด็นเช่นกัน  
               หลายท่านที่เข้าร่วมประชุมต่างก็นำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การประชุมดำเนินมาจนกระทั่งเวลา 22.30 น.คุณ ชฤทธิ์ จึงกล่าวสรุป ขอให้ทุกคนไปศึกษาคำสั่ง ครส. และทำบทสรุป เกี่ยวกับ ตำแหน่งงานเดิม หน้าที่ความรับผิดชอบ ระดับเกรด ตำแหน่งงานใหม่ ความรับผิดชอบ ผลกระทบที่ได้รับ รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่นๆ เพื่อจัดส่งให้ศูนย์ฯได้ช่วยวิเคราะห์ต่อไป
               ก่อนปิดการประชุม นาย ธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยกล่าวขอบคุณทีมคณะศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงานที่ได้ให้ความกรุณาและสละเวลามาช่วยเหลือรวมทั้งให้ความรู้ ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ จากนั้นจึงกล่าวปิดการประชุม
สมหมาย ประไว  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก รายงาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More