วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้อง
                                                       ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 10 มีนาคม พ.. 2552
เรียน      เพื่อนๆ พนักงาน บริษัท สยาม มิชลิน จำกัด
                เมื่อวัน อังคารที่10 มีนาคม พ.. 2552   ตัวแทนพนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับบริษัทฯ ทั้งหมด 6 ข้อ โดยยื่นให้กับบริษัทฯ  วัตถุประสงค์ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือให้บริษัทฯ จัดสวัสดิการเพิ่มขึ้นให้กับพนักงานทุกคน และการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของทุกคนโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงคือ (1)บริษัทฯมีผลประกอบการดีขึ้น  (2) สภาพเศรษฐกิจ (3) สวัสดิการที่มีอยู่ใช้มานานและไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   (4) สร้างขวัญกำลังใจกับพนักงานในการทำงาน  (5) เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับพนักงาน  (6) เป็นการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
                ซึ่งการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ เราใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดคือ เข้าชื่อกันยื่นเป็นข้อเรียกร้องและแต่งตั้งตัวแทนเจรจา    7 คน  และได้ส่งสำเนาให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ชลบุรี ในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้พนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องจะได้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด คือ เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมาย เมื่อข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ยหรือชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมาย ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง  เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง   (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย   (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้  ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้น ต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง      (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
*  ห้ามมิให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง สนับสนุนหรือก่อเหตุการนัดหยุดงาน
ขั้นตอนหลังจากยื่นข้อเรียกร้องโดยสังเขปเมื่อบริษัทฯรับข้อเรียกร้องแล้วจะต้องทำเป็นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเจรจาฝ่ายบริษัทฯ พร้อมกับนัดวันเจรจาข้อเรียกร้องภายใน 3 วัน ถ้าทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันได้ บริษัทฯต้องทำข้อตกลงไปจดทะเบียนกับแรงงานจังหวัดภายใน 15 วันและติดประกาศให้พนักงานทราบ แต่ถ้าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 24 ชม. นับตั้งแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ให้เข้ามาไกล่เกลี่ยเป็นเวลา    5 วัน แต่ถ้าตกลงกันได้บริษัทฯก็นำข้อตกลงไปจดทะเบียน (ตามขั้นตอนที่เสนอเบื้องต้น) แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ทั้งสองฝ่ายอาจตั้งผู้ชี้ขาดหรือนายจ้างใช้สิทธิปิดงานหรือลูกจ้างใช้สิทธินัดหยุดงาน(การหยุดงานไม่ได้รับค่าจ้าง) ซึ่งขั้นตอนการหยุดงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าบริษัทฯรับข้อเรียกร้องแล้วไม่นัดเจรจาภายใน 3 วัน ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายใน 24 ชม. หลังจากครบ 3 วัน และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยภายใน 5 วัน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่เสนอเบื้องต้นจนถึงที่สุด
ดังนั้น จึงขอให้เพื่อนๆ ได้สนับสนุนในการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ และขอให้ทุกคนคอยติดตามความคืบหน้าต่อไป เพราะข้อเรียกร้องที่ยื่นไปนั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคนและความจริงใจของบริษัทฯ ที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันด้วยเหตุผลและผล โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเอื้ออาทรต่อกันแบ่งปันซึ่งกันและกัน เพราะถ้าสังคมอยู่อย่างมีความเข้าใจกันไม่เอารัดเอาเปรียบกันและมีความสามัคคีกัน สังคมนั้นจะอยู่กันอย่างมีความสุข  ดั่งคำพูดที่ว่า                                                                                      
" ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสุข "
ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More