วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม

 21 มีนาคม 2552
เรื่อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรียน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1.บัญชีผู้ถือหุ้น                           6. หนังสือที่บริษัทฯไม่ให้ผู้แทนเจรจาเข้าทำงาน
                2.หนังสือรับรอง                                        7 . ข้อเรียกร้องบริษัทฯยื่นกับพนักงาน 
                        3.บริษัทในเครือสยามมิชลินกรู๊ป        8. บันทึกการเจรจา
                        4.ข้อเรียกร้อง  1 ชุด                                  9 .หนังสือแจ้งพิพาท                             
                        5.งบกำไรขาดทุนปี 48-50                    10 . บันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 

เนื่องด้วยพวกกระผมพนักงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ แหลมฉบัง เลขที่ 87/11 หมู่ 2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯตั้งมาเมื่อ ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 38,170,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท  มีบริษัทแม่อยู่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทสยามมิชลินกรู๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (เอกสาร 1) มีกรรมการ 7 คนที่มีอำนาจ คือ 1. นายพราชาน พราบู 2.นายคาร์ล ฟริตท์ 3.นายเชน ฦาไชย 4.นายสมชาย สัณห์วิญญู 5.นายอองเดร ดงซาลาซ 6.นายอูเว แจ็คสดัดท์ 7.เฟรดเดอวิด ปาทรคแวงชองท์ (เอกสาร2) บริษัทฯในเครือ 9 บริษัท (เอกสาร 3) ประกอบกิจการประเภทผลิตยางรถยนต์ มิชลิน  ส่งขายภายในประเทศและ ต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งยางรถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพดี และมีราคาแพงมาก  มีพนักงานทั้งหมด 1,200 คน ตลอดเวลาที่บริษัทฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงาน กลับไม่ได้ผลตอบแทนในทางที่ดี เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ทำกิจการเหมือนกัน ซึ่งบางอย่างบริษัทฯยังละเมิดกฎหมาย เช่น ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ การปรับค่าจ้างและเงินโบนัส ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนสวัสดิการอื่นๆ ยังได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำกิจการประเภทเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พนักงานไม่เคยเรียกร้องอะไรจากบริษัทฯ เพราะไม่มีใครกล้าเป็นตัวแทน กลัวถูกเลิกจ้าง บริษัทฯ ยิ่งทำยิ่งมีกำไรแต่พนักงานกลับแย่ลง ปี 2551 พนักงานได้ทำงานอย่างหนักเพราะบริษัทฯ ลดจำนวนพนักงานลง แต่กลับเพิ่มเป้าการผลิตมากขึ้น พนักงานทุกคนหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯได้เรียกพนักงานทั้งหมดประชุมและขอลดค่าจ้างพนักงาน 13.04 %อ้างเหตุผลว่า บริษัทฯมียอดสั่งซื้อลดลง แล้วให้พนักงานลงลายมือชื่อ ยินยอม หากใครไม่ยอมจะข่มขู่ และให้เขียนใบลาออก ก็มีพนักงานบางส่วนไม่ยอมให้หักค่าจ้าง เพราะการหักค่าจ้างนั้นทำให้พนักงานมีผลกระทบได้รับความเดือดร้อน และการกระทำดังกล่าวก็ผิดกฎหมาย หากบริษัทฯประสบปัญหาก็ต้องหาวิธีการอื่นที่มีผลกระทบกับพนักงานน้อยที่สุด ส่วนใครที่ไม่ยอมเซ็นต์ชื่อยินยอม ก็ถูกย้ายงาน หรือเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงาน จึงทำให้พนักงานมีการลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 น.(เอกสาร4 ) เพื่อไม่ให้บริษัทฯหักค่าจ้าง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกับให้บริษัทฯได้จ่ายเงินโบนัสเดือนเมษายนเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะเป็นผลตอบแทนในการทำงานของปี 2551
( เอกสาร 5 ) จริง ๆ พวกเราควรจะเรียกร้องให้ได้มากกว่าปีที่แล้ว แต่เพราะเห็นว่าบริษัทฯมีผลกระทบจึงยอมเรียกร้องให้ได้เท่าเดิม


หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้วบริษัทฯก็ใช้วิธีการเลือกพนักงานให้ไปเซ็นต์ชื่อถอดถอนจากข้อเรียกร้อง โดยการบังคับหากใครไม่ยอมถอนชื่อจะไม่ได้รับโบนัสเดือนเมษายนและหักค่าจ้างเป็น 35%  แต่หากใครยอมถอนชื่อก็จะได้รับโบนัส 2 เดือน  ทำให้พนักงานบางส่วนเกิดความกลัว มีบางคนยอมเซ็นต์ชื่อเพื่อถอนชื่อจากข้อเรียกร้อง และใน
ส่วนผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องบริษัทฯมีหนังสือแจ้งไม่ให้เข้าทำงานแต่ยังจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ (เอกสาร6) มิหนำซ้ำบริษัทฯได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับพนักงานที่ลงลายมือชื่อ เมื่อคืนวันที่ 10 มีนาคม 2552 ปรับลดค่าจ้าง35 % พร้อมลดวันพักร้อนอีก ( เอกสาร 7 )เพื่อเป็นการตอบโต้สำหรับพนักงานที่ไม่ยอมเซ็นต์ชื่อถอนจากข้อเรียกร้อง พนักงานจึงได้ไปร้องเรียนให้กับหัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีได้รับทราบ และท่านได้สั่งให้นายจ้างได้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่นายจ้างกลับไม่สนใจยังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ข้อเรียกร้องตกไป

จากการที่พวกกระผมได้ยื่นข้อเรียกร้อง นายจ้างได้นัดเจรจาในวันที่ 12 มีนาคม 2552 แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ (เอกสาร 8) ทำให้ลูกจ้างแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงาน (เอกสาร 9)ให้กับพนักงานประนอมเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยนัดไกล่เกลี่ยเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552 แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ (เอกสาร 10) จึงนัดไกล่เกลี่ยกันอีกในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา14.00น.ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ชลบุรีเพื่อหาข้อยุติ ข้อเรียกร้องดังกล่าว

ดังนั้นพวกกระผมจึงร้องเรียนมายังท่านเพื่อขอความอนุเคราะห์ ให้ดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังนี้

1.ให้บริษัทฯยุติการหักค่าจ้างของพนักงานแล้วหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยมีตัวแทนของพนักงานและ
   บริษัทฯมาช่วยกันแก้ไขปัญหา
2.ให้ยุติการบังคับให้พนักงานเซ็นต์ชื่อถอนจากข้อเรียกร้องเพราะเป็นสิทธิของพนักงานตามกฎหมาย
3.ให้บริษัทฯรับผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องและพนักงานบางส่วน ที่บริษัทฯไม่ให้เข้าทำงานกลับเข้าทำงาน
  ตามปกติ
4.ให้บริษัทฯส่งผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อหาข้อยุติ 

จากข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมของพวกกระผมทั้งหมดก็เพื่อต้องการให้มีค่าจ้างเพื่อดำรงอยู่ได้ พร้อมกับผลตอบแทนในการทำงานของปีที่ผ่านมา เพราะการหักค่าจ้างเป็นจำนวนมากทำให้พนักงานทุกคนได้รับความเดือดร้อนเพราะค่าจ้างของพนักงานก็ได้ไม่มากมาย  ส่วนผลกระทบเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลกระทบกับบริษัทฯ พนักงานทุกคนก็ยินดีที่จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยดี จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

................................
(นายธนกร สมสิน)
ประธานผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้าง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More